ประวัติของโรงเรียนแม่พระฟาติมา

โรงเรียนแม่พระฟาติมา  ตั้งอยู่เลขที่ ๕๙๒๑/๑  ถนนอโศก-ดินแดง  แขวงดินแดง  เขตดินแดง  กรุงเทพฯ  รหัสไปรษณีย์ ๑๐๔๐๐  โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๕-๐๕๘๐, ๐-๒๒๔๗-๙๑๘๐, ๐-๒๒๔๘-๒๒๓๒ โทรสาร ๐-๒๖๔๒-๙๙๐๒

            จัดตั้งขึ้นด้วยความคิดเห็นและการสนับสนุนของบาทหลวง ยวง บัปติสตา อาแมสตอย เจ้าอาวาสวัดแม่พระฟาติมา (ในขณะนั้น) ผู้ก่อตั้งโรงเรียน  ท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่  ๒๐ กุมภาพันธ์  ๒๕๐๕  โดยท่านมอบให้ บาทหลวงเสวียง      ศุระศรางค์ ลงนามเป็นเจ้าของ ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “แม่พระฟาติมา”  ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๐๐ โดยมีนายสิริ ชุณหสุวรรณ  เป็นผู้จัดการและครูใหญ่ เริ่มเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๔ ใช้หลักสูตรเทียบวิชาเลือก คือภาษาอังกฤษ โรงเรียนตั้งอยู่ในที่ดินของวัดแม่พระฟาติมา และอาคารของวัดใช้เป็นห้องเรียน โดยการอนุมัติของท่านเจ้าอาวาส คือบาทหลวงยวงบัปติสตา อาแมสตอย ในระยะแรกที่ก่อตั้งมีเพียงอาคารเรียนไม้ ๒ ชั้น ๙ห้องเรียน รับนักเรียนจำนวน ๓๔๐ คน ใช้อักษรย่อชื่อโรงเรียนว่า “ม.พ.ฟ.”

                  ปี ๒๕๐๑ – ๒๕๐๒ จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น ได้ขออนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ขยายชั้นเรียนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โดยเปิดเพิ่มปีละชั้นเรียน ในปีนี้เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑รวมจำนวนห้องเรียน ๑๖ ห้องเรียน รับนักเรียน ๖๘๐ คน

                  ปี ๒๕๐๓ – ๒๕๐๖ บาทหลวงเสวียง  ศุระศรางค์  ย้ายไปประจำที่วัดคาทอลิก จังหวัดนครสวรรค์  ได้มอบอำนาจหน้าที่ให้ นายสิริ  ชุณหสุวรรณ ครูใหญ่ดูแลโรงเรียน  และบาทหลวงยวงบัปติสตา อาแมสตอย ได้รับคำสั่งจากพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ให้ไปประจำที่ประเทศสิงคโปร์  และให้บาทหลวงเอมอนต์ แวร์ดิแอร์ รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแม่พระฟาติมาพร้อมกับดูแลโรงเรียนด้วย มีการปรับปรุงโรงอาหารหลังเดิมเป็นอาคารเรียนหลังที่ ๔ เพิ่มเติมอาคารไม้ ๒ ชั้น หลังที่ ๑ ออกไปอีก ๑ ห้อง ชั้นบน-ชั้นล่าง ปรับปรุงเป็นห้องพักครู-ห้องเรียน รวมจำนวน  ๒๕ ห้อง รับนักเรียนได้ ๙๖๗ คน  เปิดชั้นเรียนครบสาย  ป.๑ ถึง ม.ศ. ๓

                  ปี ๒๕๐๗ – ๒๕๑๐ บาทหลวงมอริส ยอลี  มีนโยบายขอให้นักบวชจากคณะพระหฤทัยมาช่วยดูแลกิจการของโรงเรียน ท่านแรกคือซิสเตอร์บุญแทน ผังรักษ์ ช่วยดูแลกิจการโรงเรียน มีจำนวนห้องเรียน ๒๕ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๐๒๔ คน  หลังจากนั้นซิสเตอร์กุหลาบ  นามวงศ์ ดูแลต่อได้ก่อสร้างโรงอาหาร ปรับปรุงอาคารเรียน ห้องสมุด ห้องพยาบาล ตามความจำเป็น  ซิสเตอร์สุภาภรณ์ แตงอ่อน รับตำแหน่งผู้จัดการ จำนวนห้องเรียนเพิ่มเป็น ๒๖ ห้อง  จำนวนนักเรียน ๑,๐๗๒ คน  เปิดสอนชั้น ป.๑ ถึง ม.ศ. ๓

                  ปี ๒๕๑๑ – ๒๕๑๔ ต้องรื้ออาคารหลังที่ ๓ เนื่องจากเทศบาลตัดถนนผ่านที่วัด และสร้างอาคาร ๔ ชั้น หลังแรกชื่อมารีนิรมล ซิสเตอร์บุษราภรณ์ วงศ์ภักดี ผู้จัดการ มีจำนวนห้องเรียน ๒๗  ห้อง รับนักเรียนทั้งหมด  ๑,๑๔๖ คน เปิดสอนชั้น ป.๑-ม.ศ. ๓

                  ปี ๒๕๑๕ – ๒๕๑๖ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล ระดับชั้น ป.๑ -ม.ศ.๓ ตามหนังสือที่ ศธ.๐๗๐๕/๑๙๖๖๔ ลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๑๕  จำนวนห้องเรียน ๒๗  ห้อง  จำนวนนักเรียน ๑,๑๑๘ คน หลังจากนั้นซิสเตอร์ยุพา  สรรเพชร  มารับตำแหน่งเป็นผู้จัดการ  เปิดสอนชั้น ป.๑-ม.ศ. ๓ จำนวนห้องเรียน ๒๗ ห้อง  จำนวนนักเรียน ๑,๑๔๘ คน

                  ปี ๒๕๑๗ – ๒๕๑๙ มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการจากซิสเตอร์คณะพระหฤทัย เป็นฆราวาสโดยนางพรรณี  รังสรรค์  เป็นผู้จัดการ นางศรีจุฬา วงษ์ประเสริฐ และนายเกียรติศักดิ์ วิสูตรรุจิรา เป็นผู้ช่วย จำนวนห้องเรียน ๓๑ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๓๕๑ คน  เปิดสอนชั้น ป.๑- ม.ศ. ๓

                  ปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๑ เปลี่ยนอัตราความจุนักเรียนจากเดิม ๑,๕๗๕ คน เป็น ๑,๘๕๕ คน  ตามใบอนุญาตเลขที่  ๓๑๒/๒๕๒๑ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๑ ต่อเติมอาคารเรียน (มารีอา) เริ่มหลักสูตรใหม่ ๒๕๒๑ เพิ่มห้องเรียนเป็นจำนวน ๓๒ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๓๐๘ คน  เปิดสอนชั้น ป.๑- ม.ศ. ๓ และเพิ่มชั้น ม.๑ ตามหลักสูตรใหม่

                  ปี ๒๕๒๒ – ๒๕๒๖ บาทหลวงปรีชา  ธรรมนิยม สร้างโรงพละศึกษา ตามใบอนุญาตเลขที่ ศธ.๑๐๐๒/๒๗๑๘ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๓ มีจำนวนห้องเรียน ๓๒ ห้อง  จำนวนนักเรียน ๑,๖๙๕ คน  เปิดสอนชั้น ป.๑-ม.ศ.๓ และเพิ่มชั้น ม.๒ ตามหลักสูตรใหม่จากนั้น บาทหลวงคมทวน  มุ่งสมหมาย  ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต ได้ปรับปรุงกั้นห้อง อาคารมารีอา ๓ ห้อง เป็นห้องขายหนังสือ ห้องทำงานครูและห้องพลานามัย  เป็นปีแรกที่รับนิสิตฝึกสอนจากมศว.ประสานมิตร จำนวน ๕ คน มาช่วยฝึกสอนพลานามัยให้นักเรียน ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมการเรียนเป็นปีละ ๑,๖๐๐ บาท ตามใบอนุญาตเลขที่ ๔๙/๒๕๒๗ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๗  มีจำนวนห้องเรียน ๓๒ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๗๓๘ คน  เปิดสอนชั้น ป.๑-ม.๓

                  ปี ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ บาทหลวงอนันต์  เอี่ยมมโน เจ้าอาวาสวัด แต่งตั้งบาทหลวงเอกพร นิตตะโย เป็นผู้จัดการ ได้รับใบอนุญาตผ่อนผันนักเรียนเกินอัตราบรรจุห้องเรียน ที่ ศธ.๑๐๐๒/๕๙๕๐ ลงวันที่ ๗  สิงหาคม ๒๕๒๗ วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๘ เปลี่ยนผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต จากบาทหลวงอนันต์ เอี่ยมมโน เป็นบาทหลวงวุฒิเลิศ   แห่ล้อม ตามใบอนุญาตเลขที่กศ.๕๓๑/๒๕๒๘  มีจำนวนห้องเรียน ๓๓ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๗๗๙ คน

                  ปี ๒๕๒๙ – ๒๕๓๑ บาทหลวงวุฒิเลิศ  แห่ล้อม ผู้รับใบอนุญาต-ครูใหญ่ บาทหลวงคมสันท์ ยันเจริญ ผู้จัดการดำเนินการปรับปรุงบริเวณสนามและถนนในบริเวณโรงเรียน รวมทั้งห้องพักครูและห้องอื่นๆ มีครูทั้งสิ้น ๗๕ คน จำนวนห้องเรียน ๓๖ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๗๗๖ คน  เปิดสอนชั้น ป.๑ – ม.๓

                  ปี ๒๕๓๒ – ๒๕๓๔ บาทหลวงสุเทพ  พงษ์วิรัชไชย ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวงวิทยา คู่วิรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการและบาทหลวงศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย ครูใหญ่ ได้รับใบอนุญาตเลขที่ ๘๙๑/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๓ ให้มีห้องเรียน ๔๐ ห้อง รับนักเรียนได้สูงสุด ๒,๑๓๒ คน วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๔ ยื่นคำร้องแต่งตั้งนายเกียรติศักดิ์ วิสูตรรุจิรา รักษาการแทนครูใหญ่ ซึ่งเดินทางไปดูงานต่างประเทศ จัดงานฉลองพิธีเปิด-เสกอาคาร อาคารหลังที่ ๓ “นิรมล” โดยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู มีห้องปฏิบัติการทางภาษา (Sound Lab) ห้องศูนย์คอมพิวเตอร์ มีจำนวนห้องเรียน ๓๘ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๙๓๕ คน จำนวนครู ๖๕ คน 

                  ปี ๒๕๓๕ – ๒๕๓๖ บาทหลวงเอกพงษ์ พงษ์สูงเนิน ผู้ช่วยผู้จัดการ บาทหลวงศักดิ์ชัย ทรัพย์อัประไมย ครูใหญ่ ปรับปรุงเวทีโรงประชุม ปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์เปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ระดับชั้นป.๕- ม.๓ เป็นปีแรก ปรับปรุงบ้านพักนักการวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๕ ได้รับใบอนุญาตเลขที่ กส.๕๖/๒๕๓๖ จากเลขาธิการ สช. ให้รับนักเรียนได้สูงสุด ๒,๗๙๒ คน เปิดสอนชั้น ป.๑- ม.๓

                  ปี ๒๕๓๗ – ๒๕๓๙ บาทหลวงชุมภา คูรัตน์  ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวงมาโนช สมสุข ผู้ช่วยผู้จัดการ เปิดสอน ชั้นป.๑ -ม.๓ จำนวนห้องเรียน ๔๕ ห้อง จำนวนนักเรียน ๒,๒๑๖ คน  จำนวนครู ๑๐๐ คน

                  ปี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๑ บาทหลวงชุมภา คูรัตน์  ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ  บาทหลวงถิรลักษณ์  วิจิตรวงศ์  ผู้ช่วยผู้จัดการ เปิดสอนวิชาสามัญตั้งแต่ชั้นป.๑ – ม.๓ จำนวนห้องเรียน ๔๕ ห้อง จำนวนนักเรียน ๒,๑๖๕ คน จำนวนครู ๑๐๒ คน

                  ปี ๒๕๔๒ – ๒๕๔๓ บาทหลวงวิชชุกรณ์ เกตุภาพ ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ ซิสเตอร์สุชาตรี กิจประเสริฐ  ครูใหญ่  ปรับปรุงห้องโสต ห้องวิชาการ ห้องน้ำชาย-หญิง โรงประชุม (ภายหลังปรับเป็นโรงอาหาร) ประสานกับทางการขอให้สร้างสะพานลอยหน้าโรงเรียน มีพิธีเปิดสะพานลอยอย่างเป็นทางการโดย สส.พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค

                  ปี ๒๕๔๔ – ๒๕๔๖ บาทหลวงวิชชุกรณ์  เกตุภาพ ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ ซิสเตอร์วรรณวิมล สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่ เพิ่มเติมห้องคอมพิวเตอร์ ๑ ห้อง โดยการสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครองและครูฯ  ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ห้องเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๔ จัดห้องดนตรีไทย ขยายห้องสมุด  ขยายระดับการศึกษาชั้นม.๔-๖ ระดับละ ๑ ห้องเรียน มีห้องเรียนทั้งหมด ๔๙ ห้อง จำนวนนักเรียนรวม ๒,๒๙๐ คน จำนวนครูและบุคลากรสนับสนุน ๑๑๗  คน 

                  ปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๙ บาทหลวงประเสริฐ  ตรรกเวศม์  ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ ซิสเตอร์วรรณวิมล  สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่ ปรับเปลี่ยนหลังคาทางเดินใหม่ สร้างโดมร่มเย็นหน้าอาคารฟาติมา สร้างสระว่ายน้ำหน้าอาคารมารีอา และขยายระดับชั้น ม.๔ – ม.๖ ระดับละ ๑ ห้อง มีนักเรียนทั้งหมด ๒,๒๒๕ คน ห้องเรียน ๕๐ ห้อง ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษา จาก สมศ. ในการประเมินภายนอก รอบที่ ๒

                  ปี ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑ บาทหลวงประเสริฐ  ตรรกเวศม์  ผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวงอิทธิพล ศรีรัตนะ ผู้อำนวยการ จำนวนนักเรียนรวม ๒,๑๑๐ คน ห้องเรียน ๕๑ ห้อง

                  ปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓  บาทหลวงสานิจ สถะวีระวงส์  ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต บาทหลวงอิทธิพล ศรีรัตนะ ผู้อำนวยการ เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป.๑ – ม.๖ มีนักเรียนจำนวน ๑,๗๒๕ คน  ห้องเรียน ๕๑ ห้อง 

                  ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๔ บาทหลวงสุรชัย กิจสวัสดิ์ ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวงสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา ผู้อำนวยการ เปิดสอนระดับชั้น ป.๑ -ม.๖  ลดจำนวนห้องเรียน ๕๐ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๕๔๓ คน  จัดครูต่างชาติเจ้าของภาษาสอนวิชาภาษาจีนและสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ชั้น ป.๑ -ม.๖ โรงเรียนแม่พระฟาติมาได้รับการพิจารณาจากสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบการใช้ตราสารจัดตั้งนิติบุคคลของโรงเรียนในระบบโรงเรียนแม่พระฟาติมา สังกัดมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ  ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐  เมื่อวันที่ ๗  พฤษภาคม ๒๕๕๓

                  ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๗ บาทหลวงสุรชัย กิจสวัสดิ์ ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวงสุชาติ  อุดมสิทธิพัฒนา ผู้อำนวยการ ปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำสำหรับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยงบประมาณสนับสนุนจากสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนแม่พระฟาติมาเป็นจำนวนเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท และได้ยื่นขอแจ้งยกเลิกกิจการสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านแม่พระฟาติมาต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เริ่มใช้หลักสูตร จริยศึกษาสำหรับโรงเรียนคาทอลิกตามประกาศของพระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์  โกวิทวาณิชและอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้อนุมัติให้ปรับปรุงอาคารอนุบาลเพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการใช้อาคารสำหรับเด็กอนุบาล  รวมถึงการปรับปรุงโรงอาหาร หอประชุมใหญ่และสระว่ายน้ำสำหรับเด็กอนุบาล โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ 

                  ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ บาทหลวงวิทยา  แก้วแหวน ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวงสุชาติ อุดมสิทธิพัฒนา ผู้อำนวยการ ปีการศึกษา ๒๕๕๙ เปิดหลักสูตรการเรียนโดยใช้ภาษาอังกฤษเข้มข้น (EA) เริ่มในระดับชั้นป.๑ สอนโดยครูต่างชาติ จัดเฉลิมฉลองการครบรอบ ๖๐ ปี วัดแม่พระฟาติมา พิธีเสกอาคารเรียนปฐมวัย และห้องประชุมใหญ่ โดยพระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์  โกวิทวาณิช ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙  เวลา ๑๗.๐๐ น. และพิธีบูชาขอบพระคุณโอกาสฉลองครบรอบ ๖๐ ปีวัดแม่พระฟาติมา ในเวลา ๑๙.๐๐ น.

โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เตรียมปฐมวัย -ปฐมวัยปีที่ ๑-๓ จำนวน ๑๔ ห้อง ระดับประถมศึกษา ๒๗  ห้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๖ ห้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๖ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๔๙๓ คน

                  ปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๓ บาทหลวงวิทยา แก้วแหวน ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวง ดร.ฉลองรัฐ สังขรัตน์ ผู้อำนวยการ ดำเนินการเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ระดับเตรียมปฐมวัยและปฐมวัยปีที่๑-๓ จำนวน ๑๖ ห้อง ระดับประถมศึกษา ๒๔ ห้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๖ ห้อง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๖ ห้อง รวมทั้งสิ้น ๔๒ ห้อง จำนวนนักเรียน ๑,๔๔๖ คน จำนวนครู ๑๓๓ คน  ได้พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในโรงเรียน พัฒนาด้านการเรียนการสอน ริเริ่มการจัดการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรม สื่อเทคโนโลยี จัดทำห้อง Coding Multimedia  ห้องนวัตกรรม  ห้องสมุดดิจิทัล  ศูนย์การเรียนรู้ปฐมวัย  ห้องประชุมสำหรับนักเรียน ห้องกิจกรรมในแต่ละระดับ ปรับปรุงห้องดนตรีไทย  ห้องดนตรีสากล ห้องนาฏศิลป์ ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการรายวิชาเสริมหลักสูตร เช่นห้องภาษาจีน ห้องเทควันโด  บัลเล่ต์  ดนตรี  English room  นำระบบ Checker เข้ามาใช้ในระบบการเรียนการสอน รวมถึงการซื้ออุปกรณ์การเรียนและการซื้ออาหาร  นำระบบ LMS ช่วยครูทำแผนการจัดการเรียนรู้  และระบบ EPS ในการเรียนการสอนบูรณาการกับคุณธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัยของบุคลากรรวมถึงคุณธรรมขั้นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

                  ปี ๒๕๖๔  บาทหลวงบัณฑิตย์ ประจงกิจ ผู้ทำการแทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวง ดร.ฉลองรัฐ สังขรัตน์ ผู้อำนวยการ เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ระดับเตรียมปฐมวัยถึงปฐมวัยปีที่๑-๓ จำนวน ๑๔ ห้อง ระดับประถมศึกษา ๒๔ ห้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๕ ห้อง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๖ ห้อง รวมทั้งสิ้น ๔๙ ห้องเรียน จำนวนนักเรียน ๑,๔๓๗  คน จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา  ๑๒๖  คน  ได้พัฒนาปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้สวยงาม สะอาดและเหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-๒๐๑๙ (covid-๑๙) ได้จัดทำรั้วตะแกรงกั้นพื้นที่บริเวณสนามฟุตซอลให้มีทางเข้า-ออกทางเดียว เพื่อความปลอดภัยและง่ายในการตรวจคัดกรองในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙  ติดตั้งจุดวัดอุณหภูมิ เจล /แอลกอฮอล์ล้างมือหลายจุดในบริเวณโรงเรียน ติดเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติเดียวกันตามมาตรการของ ศบค. การจัดระเบียบแยกประเภทของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการเก็บรักษาที่เป็นระเบียบ ง่ายต่อการหยิบใช้งาน ทาสีห้องเรียน ระเบียงอาคารเรียนและโรงอาหาร ซ่อมแซมปรับเปลี่ยนประตูห้องเรียน จัดซื้อโต๊ะเก้าอี้นักเรียนชุดใหม่ และซ่อมแซมโต๊ะเก้าอี้บางส่วนให้เหมาะสมกับการใช้งาน ปรับระบบการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนให้มีเสถียรภาพเหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น

                  ปี ๒๕๖๕  บาทหลวงบัณฑิตย์ ประจงกิจ ผู้แทนผู้รับใบอนุญาต-ผู้จัดการ บาทหลวง ดร.ฉลองรัฐ สังขรัตน์ ผู้อำนวยการ  โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับเตรียมปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ในระดับเตรียมปฐมวัยถึงปฐมวัยปีที่ ๑-๓ มีจำนวน ๑๒ ห้อง ระดับประถมศึกษา ๒๔ ห้อง ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ๔ ห้อง และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๖ ห้อง รวมทั้งสิ้น ๔๖  ห้องเรียน จำนวนนักเรียน ๑,๒๙๘  คน จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา  ๙๒  คน  ได้พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียนเพิ่มเติม ทำให้บรรยากาศสะอาดตายิ่งขึ้น มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการปฏิบัติตนตามมาตรการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-๒๐๑๙ (covid-19) มีการบริหารจัดการคัดกรองบุคลากรเข้า-ออกสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ทุกคนปฏิบัติตาม ๖ มาตรการหลัก (DMHT-RC) ๖ มาตรการเสริม (SSET-CQ) และ ๗ มาตรการเข้มของสถานศึกษา จัดให้มียามตึกคอยสอดส่องดูแลคัดกรองการเข้า-ออกตลอดวัน สร้างความมั่นใจและความปลอดภัยแก่บุคลากร ผู้ปกครอง ผู้มาติดต่ออย่างชัดเจน  บริเวณบันไดขึ้นอาคารเรียนทุกหลังติดตั้งจุดวัดอุณหภูมิ เจล /แอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อฝึกให้บุคลากรปฏิบัติตนให้เป็นกิจวัตรประจำวันในการดูแลตนเองและรับผิดชอบต่อส่วนรวม  สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน TSC+ (Thai Stop Covid Plus) ตลอดปีการศึกษา  ดำเนินการให้นักเรียน ครู บุคลากร ได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ผ่านระบบสถานศึกษา การบริหารจัดการเกี่ยวกับชุดตรวจ ATK เพื่อดูแลบุคลากรในสถานศึกษาอย่างเท่าเทียม

การอำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นสื่อ เทคโนโลยี่ นวัตกรรม ติดตั้งจอ power point ในทุกห้องเรียน  จัดซื้อโต๊ะ-เก้าอี้นักเรียนชุดใหม่เพิ่มเติมให้เพียงพอ ซ่อมแซมโต๊ะ-เก้าอี้บางส่วนให้เหมาะสมกับการใช้งาน มีระบบสำรวจตรวจสอบและปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนตามสภาพจำนวน ๓๐ เครื่อง

        การจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์โรคระบาดโควิด – ๑๙ แบบ on line /on site /on hand / hybrid ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนแม่พระฟาติมาได้ไตร่ตรอง วิเคราะห์ผลกระทบ-ปัญหาที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ในสถานการณ์นี้  จึงได้ริเริ่มเทคนิคการเรียนรู้ที่น่าสนใจแบบ Smart Learning ขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทั้งผู้เรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นสำคัญ